ประเพณีข้าวห่อกะเหรี่ยง(แก่งกระจาน)

ประเพณีข้าวห่อกะเหรี่ยง(แก่งกระจาน)


ประเพณีข้าวห่อกะเหรี่ยง หรือประเพณีข้าวห่อเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยง หรือที่เรียกกันว่า “อั้งมีถ่อง” หรือประเพณีกินข้าวห่อ เป็นการประกอบพิธีกรรม สำหรับให้ลูกหลานได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในครอบครัว เดือนหล่าค่อก (เดือนเก้า) มีความหมายดังนี้ หล่า แปลว่า เดือน ค่อก แปลว่า ตะกวด หล่าค่อกคือเดือนตะกวด เป็นเดือนที่ตะกวดสัตว์เลื้อยคลานชอบอาศัยจอมปลวกและโพรงไม้ จะเริ่มจำศีลอดอาหาร เดือนเก้าคาบเกี่ยวระหว่างปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่ฝนตกชุก เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเฉพาะไข้มาเลเรีย ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าเกิดจาการที่มีผู้กระทำผิดต่อกฎระเบียบ ข้อห้ามของบรรพบุรุษ หรือถูกผีป่า ผีน้ำ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าท่าเจ้าทุ่ง และวิญญาณที่เร่ร่อนมารบกวน เดือนเก้าเป็นช่วงเวลาที่ชาวไร่จะได้หยุดพักหายเหนื่อย จากงานในไร่ จุดประสงค์ของพิธีกรรมผูกแขนเรียกขวัญ ในเดือนเก้า เพื่อให้ลูกหลานอยู่สุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีความสุขความเจริญ มีอายุมั่นขวัญยืน มีความรักสามัคคี เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน

อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก ชนเผ่านี้ยังยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมและรักษาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ประเพณีข้าวกะเหรี่ยงนี้เป็นประเพณีเกี่ยวกับการเรียกขวัญ หรือรับขวัญของบุคคลในครอบครัวที่ได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินอยู่ที่อื่น นาน ๆ จึงจะกลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องสักครั้งหนึ่ง โดยหัวหน้าหมู่บ้านจึงได้กำหนดถือเอาวันพระ เดือนเก้า ซึ่งเชื่อกันว่า เดือนเก้าเป็นเดือนที่ดีที่สุด เป็นเดือนแห่งโชคลาภ เป็นวันมาพบกัน โดยยึดเอาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเป็นที่นัดพบกัน

https://catlovecatza.wordpress.com/tag/ประเพณีข้าวห่อกะเหรี่ย/