ประเพณีเล่นเพลงปรกไก่ขอฝน

ประเพณีเล่นเพลงปรบไก่ขอฝน
จังหวัดเพชรบุรี


การขอฝนเป็นพิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งพิธีขอฝนในภาคกลางส่วนใหญ่เป็นการแห่นางแมว ปั้นเมฆ แต่การขอฝนที่แปลกกว่าถิ่นอื่นก็คือ การขอฝนด้วยการเล่นเพลงปรบไก่ ที่ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จัดหวัดเพชรบุรี

เล่าสืบต่อกันมาว่า หมู่บ้านแถบนี้แห้งแล้งมาก ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะใช้วิธีขอฝนอย่างไรก็ไม่ได้ผล จึงชักชวนกันมาบนบานขอฝนต่อศาลประจำหมู่บ้าน โดยสัญญาว่าถ้าฝนตกจะบวงสรวงและเล่นเพลงปรบไก่ถวาย ปรากฏว่าฝนตกบริบูรณ์ดี ชาวบ้านจึงจัดการบวงสรวงและเล่นเพลงปรบไก่ถวายเป็นประจำทุกปี ถ้าปีใดไม่เล่นเพลงปรบไก่ถวายก็จะมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งชาวบ้านจัดให้มีการเล่นเพลงพวงมาลัยและเพลงฉ่อยถวายแทนเพลงปรบไก่ ปรากฏว่าต้นสำโรงใหญ่ในหมู่บ้านเกิดล้มลงมาทั้ง ๆ ที่ต้นไม้แข็งแรงดี และไม่มีลมพายุแต่อย่างใด ทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า หลวงปู่ซึ่งสถิต ณ ศาลประจำหมู่บ้านไม่ชอบเพลงพื้นเมืองอื่น ๆ นอกจากเพลงปรบไก่อย่างเดียว ตั้งแต่นั้นมาจึงไม่มีการเล่นเพลงพื้นเมืองอื่น ๆ แทนเพลงปรบไก่อีกเลย

กำหนดงาน

การเล่นเพลงปรบไก่ของชาวจังหวัดเพชรบุรี เพื่อบวงสรวงศาลและขอฝนนี้ จะเล่นกันในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี

กิจกรรม / พิธี

พอใกล้ถึงวันงาน บรรดาชาวบ้านดอนข่อย ไร่คา และวังบัว จะพากันเดินทางกลับมาเข้าร่วมพิธี โดยพวกหนุ่ม ๆ ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ ข้างพวกผู้หญิงจะทำข้าวปลาอาหาร กับแกล้ม และน้ำตาลเมามาให้ เมื่อถึงวันงานตอนเช้าชาวบ้านจะจัดเตรียมอาหารคาวหวานต่าง ๆ มาทำบุญเลี้ยงพระที่ศาลและถวายหลวงปู่ที่สถิตอยู่ที่ศาลประจำหมู่บ้าน
การแต่งกายของพ่อเพลงแม่เพลงเพื่อใช้ในการแสดง ฝ่ายชายจะนุ่งผ้าโจงกระเบนโดยใช้ผ้าสีสด สวมเสื้อสีหรือผ้าดอกลายสวยงามทัดดอกไม้ มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ห้อยปลายทั้งสองข้างไว้ด้านหลัง หรือจะใช้คาดเอวก็ได้ ส่วนฝ่ายหญิงนุ่ง ผ้าโจงกระเบนสวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก จะใช้ผ้าสีสด ผ้าลูกไม้ หรือผ้าอื่น ๆ ตามสมัยนิยม ห่มสไบสีต่าง ๆ ทัดดอกไม้ หรืออาจมีเครื่องประดับอื่น ๆ อีกก็ได้ตามแต่ฐานะผู้เล่น
เมื่อได้เวลาพ่อเพลง แม่เพลงจะมาพร้อมกันที่ศาลาสำหรับเล่นเพลง มีหญิงคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นร่างทรง พ่อเพลงอาวุโสจะเป็นผู้นำพิธีไหว้ครู แล้วสวดชุมนุมเทวดา หรือที่เรียกกันว่า “บทสัคเค”และกล่าวเชิญเจ้าต่างๆ รวมทั้งพ่อปู่ให้มาสถิตในสถานที่นั้น เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนในหมู่บ้าน เมื่อวิญญาณหลวงพ่อปู่เข้าทรง ชาวบ้านจะเริ่มการเล่นเพลงปรบไก่ บรรดาชาวบ้านที่มีเรื่องทุกข์ร้อนจะทยอยกันเข้าไปปรึกษาหาข้อแก้ไข ส่วนชาวบ้านที่ไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนก็อาจ จะมาขอให้เสกเหล้าหรือน้ำดื่ม เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัวและถวายเงินบำรุงศาล จากนั้นวิญญาณก็จะออกจากร่างเพื่อให้วิญญาณอื่นได้เข้าทรงบ้าง เงินที่ได้จากการบริจาค ชาวบ้านจะใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในงานพิธี
เมื่อได้รับสัญญาณให้เริ่มเล่นเพลงปรบไก่ พ่อเพลงจะถือพานใส่ดอกไม้ธูปเทียนและเงินค่ากำนัล จากนั้นเริ่มกล่าวคำไหว้ครู ฝ่ายชายเริ่มไหว้ก่อนแล้วจึงร้องสลับกันไป จนบทไหว้ครูลงปี่พาทย์รับสาธุการ จากนั้นผู้เล่นลุกขึ้นตั้งวงและรำถวายมือ ผู้ร้องฝ่ายชายจะออกมารำกลางวง ท่ารำของฝ่ายชายปัดไปมาคล้ายกับอาการป้อของไก่ตัวผู้ อาจเป็นเพราะลักษณะนี้จึงเรียกว่าเพลงปรบไก่ เรื่องที่ใช้เล่นในพิธีมีอยู่ 2 เรื่อง คือ ไกรทอง และสุวิญชาเมื่อร้องรำไปใครเหนื่อยก็จะนั่งลงตรงกลางวง กินหมากและดื่มน้ำ ดื่มเหล้าที่วางไว้ พอหายเหนื่อยแล้วก็จะลุกขึ้นร้องรำต่อไปใหม่ เล่นต่อไปจนจบเรื่องในตอนบ่าย ก่อนจะเลิกเล่นพ่อเพลงแม่เพลงจะร้องเพลงลา และส่งเจ้าที่เชิญมาเข้าทรงกลับถิ่น
https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/traditional…/index.html